Thailand Web Stat

วิธีเก็บเงิน เก็บอย่างไรให้ได้ตามเป้า มีเงินออมเต็มกระปุก

วิธีออมเงิน
ปลดหนี้
อยากมีเงินเก็บทำยังไงดี! ทุกวันนี้ได้เงินเดือนมา หักค่าใช้จ่ายจำเป็น ค่ากิน ค่าที่อยู่อาศัย หรือค่าช็อปปิง กลับไม่เหลือเงินเก็บเลย หากใครกำลังมองหาวิธีเก็บเงินดี ๆ อยู่ บทความของเราจะมาแนะนำทริคเก็บเงินที่ได้ผลจริง เก็บได้ถึงหลักหมื่นในแต่ละปี มีเงินเก็บโดยที่ยังสนุกกับการเก็บออมด้วย ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูวิธีการออมเงินและเลือกวิธีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองกันเลย!

1. เก็บเงินด้วยแบงก์ 50

วิธีออมเงินแบบเบื้องต้นอย่างแรก ๆ ที่ทุกคนอาจเคยได้ยินคือ การเก็บเงินด้วยแบงก์ 50 เนื่องจากแบงก์ 50 นั้นเป็นธนบัตรที่ผลิตมาน้อย การจะได้แบงก์ 50 มาเก็บถือเป็นแรงจูงใจและการท้าทายตัวเองอย่างหนึ่ง จึงเป็นวิธีเก็บเงินที่ได้ผล และอาจเก็บได้เยอะกว่าที่คิด แต่มีข้อเสียเล็กน้อยคือ อาจจะมีวันที่ได้เงินทอนมาเป็นแบงก์ 50 บ่อยจนทำให้กระทบกับค่าใช้จ่ายประจำวัน
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเก็บที่จะกระทบค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจทำให้รู้สึกท้อกับการเก็บเงินได้นั้น ควรกำหนดเป้าหมายในแต่ละเดือนว่า สามารถเก็บเงินด้วยแบงก์ 50 รวมกันเป็นเงินเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับค่าใช้จ่าย ไม่ทำให้รู้สึกท้อที่จะเก็บเงิน และยังสร้างวินัยการเก็บเงินเพิ่มขึ้นด้วย

2. แยกเงินเก็บออกมาก่อนใช้

วิธีเก็บเงินของมนุษย์เงินเดือนที่ได้ผลคือ หลังจากได้เงินเดือนมาแล้ว ให้แยกเงินเก็บไว้ในบัญชีอื่นทันที วิธีนี้เป็นวิธีเก็บเงินที่ป้องกันการใช้จ่ายที่อาจจะมากเกินความจำเป็นจนอาจทำให้ไม่เหลือเงินเก็บ และการแยกเงินเก็บออกมาก่อนจะทำให้เรากำหนดค่าใช้จ่ายให้พอดีกับเงินที่เหลือหลังหัก Fix Cost ได้
เราต้องคำนวณเงินที่จะเก็บให้ดีว่า เงินส่วนที่เหลือพอสำหรับใช้จ่ายหรือไม่ และควรมีวินัยในการไม่นำเงินในบัญชีเงินเก็บออกมาใช้ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นจริง ๆ รวมถึงอาจจะใช้การจดบันทึกกันลืมไว้ แล้วเดือนถัดไปก็คืนเงินตัวเอง ทำจนเป็นกิจวัตรเพื่อให้รู้สึกว่าการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องยาก และยังสามารถใช้จ่ายได้ไม่ติดขัด

3. แบ่งเงินเป็นสัดส่วน

หากวิธีแยกเงินเก็บมาก่อนทีเดียวเป็นการหักดิบจนมากเกินไป ลองใช้สูตรการออมเงินด้วยการแบ่งเงินเป็นสัดส่วน อิงจากไลฟ์สไตล์ของเรา ที่สำคัญคือห้ามตึงหรือหย่อนเกินไป เพราะถ้าตึงเกินไปก็อาจจะทำให้ท้อได้ง่ายจนล้มเลิก ส่วนหย่อนเกินก็จะทำให้มีเงินเก็บน้อย ไม่ถึงเป้าหมายที่เราต้องการได้
วิธีแบ่งเงินเก็บเป็นสัดส่วนนั้น ควรแบ่งแยกแต่ละบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือน (Fix Cost) เช่น ค่าหอ, ค่าคอนโด, ค่าน้ำค่าไฟ, ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายประจำวัน (Living Expenses) เช่น ค่ากิน, ค่าช็อปปิงของแต่ละเดือน, ค่าจิปาถะ, ค่าเที่ยว, เงินเก็บ ฯลฯ
ทั้งนี้บางคนอาจตัดค่าจิปาถะออกไปรวมกับเงินเก็บได้หากไม่ได้มีไลฟ์สไตล์เที่ยวบ่อย ๆ เน้นเที่ยวทีเดียว เป็นต้น ดังนั้นลองจัดสรรเงินเป็นสัดส่วนให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หากทุก ๆ เดือนมีเงินในบัญชีเงินเก็บเพิ่มขึ้นจะรู้สึกดีแน่นอน

4. เก็บเงินจากเงินทอน

หากใครที่แบ่งสัดส่วนเงินออกมาเป็นเลขกลม ๆ และช่วงสิ้นเดือนมีเงินเหลือหลังจากใช้จ่ายเสร็จแล้ว แน่นอนว่าจะมีเศษเงินเล็กน้อยเหลืออยู่ ให้นำเงินเหล่านั้นเข้าบัญชีเงินเก็บได้เลย เพราะเดือนใหม่เข้ามาก็จะต้องจัดสรรเงินใหม่อยู่แล้ว แต่วิธีนี้ควรเป็นวิธีเก็บเงินเสริมเท่านั้น เนื่องจากเงินทอนในแต่ละเดือนไม่แน่นอนและจำนวนไม่เยอะมาก แต่การใช้วิธีเสริมนี้เก็บเงินรวมกันหลาย ๆ เดือนก็อาจเพิ่มพูนเป็นหลักพันได้ ถือเป็นโบนัสประจำปีที่เพิ่มจากเงินเก็บปกติ

5. เปิดบัญชีเงินฝากประจำ

วิธีนี้เป็นวิธีเก็บเงินแบบจริงจังสำหรับผู้ที่มีรายได้แน่นอน เนื่องจากเงินฝากประจำนี้จะสามารถถอนได้แค่เวลาที่กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถถอนออกเรื่อย ๆ แบบบัญชีออมทรัพย์ ข้อดีคือเราจะสามารถได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นกำลังใจที่ดีในการเก็บเงินแน่นอน
หากใครต้องการใช้วิธีเก็บเงินด้วยการฝากเงินประจำ ลองคำนวณว่าเราสามารถฝากได้เท่าไรต่อเดือน เพื่อให้ไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พร้อมดูอัตราดอกเบี้ยให้เรียบร้อยก่อนการตัดสินใจเปิดบัญชี

6. เก็บเงินในกระปุกที่เปิดยาก

วิธีเก็บเงินด้วยการใส่ในกระปุกออมสินที่เปิดยาก หรือต้องทุบเท่านั้นเป็นวิธีหักดิบสำหรับใครที่ไม่มั่นใจหรือกลัวว่าจะมีวินัยไม่พอ แต่วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีรายได้พอประมาณและรายได้แน่นอน หรือไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่อาจต้องมีเงินสำรองในการจ่าย เนื่องจากการนำเงินออกมาจะต้องทุบกระปุกเท่านั้น
หรือหากใครที่อยากเก็บเงินเพิ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะใช้กระปุกออมสินแบบที่เปิดไม่ได้เป็นเงินเก็บเสริมรายปีจากเศษเหรียญก็ได้เช่นกัน เผลอ ๆ ได้เงินเก็บเพิ่มถึงหลักพันทีเดียว

7. ช็อปไปเท่าไหร่ เท่านั้นคือเงินเก็บ

หากใครที่ให้การช็อปปิงมาเป็นที่ 1 แต่ก็ต้องการเก็บเงิน เราสามารถใช้วิธีเก็บเงินด้วยการคืนเงินตัวเองที่ใช้ช็อปปิงได้ เช่น ซื้อกระเป๋า 1,500 บาท ก็ต้องคืนเงินตัวเอง 1,500 บาท ซึ่งวิธีนี้ต้องมีวินัยสูงและไม่ควรผัดวันประกันพรุ่งในการคืนเงินตัวเอง ที่สำคัญ อย่าลืมจดยอดเงินที่ใช้ซื้อของเอาไว้ และสร้างบัญชีสำหรับคืนเงินให้ครบ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นการท้าทายตัวเองว่าใช้ไปได้ก็หามาคืนได้เช่นกัน

8. เก็บเงินจากการให้รางวัลตัวเอง

วิธีนี้เป็นวิธีเก็บเงินแบบเล็กน้อยแต่ความถี่ค่อนข้างบ่อย อาจจะเป็นการให้รางวัลตัวเอง เช่น วันนี้ทำงานเสร็จเร็ว ได้รางวัล 20 บาท วันนี้ทำตามเป้าหมายที่กำหนดได้สำเร็จครบ 50 บาท หรือถ้ามีศิลปินที่ชอบ ก็อาจจะเป็นการที่ศิลปินท่านนั้นปล่อยเพลง หรืออัปรูปลงโซเชียล เก็บรูปละ 20 บาท วิธีเก็บเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเยอะ และการให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจทำให้เก็บได้เดือนละหลักพันได้เช่นกัน

9. เก็บเงินตามวันที่

วิธีการเก็บเงินอีกหนึ่งวิธีที่สร้างความสนุกและแรงจูงใจในการเก็บเงินคือ การเก็บเงินตามวันที่ เนื่องจากจะเก็บเงินตามเลขวันที่ของวันนั้น ๆ เช่น วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 25 เก็บ 25 บาท โดยสามารถเลือกเก็บเป็นรายเดือน หรือรายปีตามความสะดวกของตัวเองได้ ถ้าเป็นรายเดือน ในทุกเดือน เก็บเงินตั้งแต่วันละ 1 ถึง 30 หรือ 31 บาท เพราะฉะนั้น ในหนึ่งเดือน จะได้เงินเก็บประมาณ 465-496 บาท หรือหนึ่งปีจะมีเงินเก็บประมาณ 5,580 บาทนั่นเอง
ส่วนเก็บรายปี จะเป็นการออมเงินตั้งแต่วันละ 1 ถึง 355 บาท หนึ่งปีจะได้เงินเก็บได้ถึง 66,795 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ การเลือกว่าจะเก็บตามวันที่เป็นรายเดือนหรือรายปีนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับรายได้ เนื่องจากเก็บรายปี ช่วงหลัง ๆ จะต้องเก็บเงินวันละ 200 – 300 บาท อาจจะทำให้รู้สึกท้อกับการเก็บเงินและเก็บได้ไม่สม่ำเสมอ หรือหากใครมีเงินเก็บประจำเดือนอยู่แล้ว อาจจะใช้วิธีเก็บเงินรายเดือนเป็นเงินเก็บเสริมก็ได้เช่นกัน
แนะนำวิธีเพิ่มเติม หากคิดว่าเก็บตามวันที่เป็นรายปีไม่ไหวช่วงเดือนหลัง ๆ แต่เก็บรายเดือนนั้นยอดน้อยและจะใช้เวลาในการเก็บเงินนานเกินไป อาจจะใช้เป็นวิธีการ Challenge ตัวเองว่าเดือนนี้สามารถเก็บตามวันที่ได้ครบ 30 วัน จะมีการให้โบนัสตัวเองเพิ่มในเดือนนั้น ๆ กี่บาท เท่านี้ก็จะได้เงินเก็บเพิ่มขึ้น และเมื่อรวมยอดรายปีก็สามารถเป็นเงินหลักหมื่นได้เหมือนกัน

10. วางแผนการเงิน แบ่งเงินเพื่อการลงทุนในอนาคต

วิธีออมเงินอย่างฉลาดแน่นอนว่าต้องมีการแบ่งสันปันส่วนเงินอย่างชัดเจน และนอกจากนี้อาจมีการศึกษาวางแผนการลงทุนในอนาคต ซึ่งการลงทุนที่ดีนั้นไม่ควรใช้เงินเก็บทั้งหมดไปกับการลงทุน แต่ควรใช้เงินที่แบ่งจากการเก็บมาระยะหนึ่งเป็นเงินเย็นเพื่อใช้ในการลงทุน และศึกษา วางแผน เลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง มีสติในการลงทุน เพื่อที่จะลดความเสี่ยง และสามารถเปลี่ยนเป็นเงินก้อนในอนาคต

สรุป

โดยสรุปแล้ว วิธีเก็บเงินที่ดีคือการที่เราสามารถจัดสรรเงินเป็นสัดส่วนได้ โดยที่ยังมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ติดขัด และสามารถให้ความสุขกับตัวเองได้ในแต่ละวัน ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือควรมีวินัยในการเก็บออม เลือกวิธีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์เพื่อที่จะไม่เหนื่อยกับการเก็บเงิน ไม่ตึงเกินไปและไม่หย่อนเกินไป คิดว่าการเก็บเงินเป็นรางวัลที่จะให้ตัวเองในอนาคต
ให้การเก็บเงินเป็นเรื่องสนุก แบ่งเงินได้ชัดเจน โดยไม่ต้องเปิดบัญชีหลายเล่มกับ MAKE by KBank แอปที่จะช่วยคุณแบ่งสัดส่วนของเงินได้ในบัญชีเดียวด้วยฟีเจอร์ Cloud Pocket ไม่ว่าจะแบ่งค่าใช้จ่ายคงที่ประจำเดือน ค่ากิน ค่าช็อปปิง เงินออม นอกจากจะช่วยในการแบ่งสัดส่วนเงินแล้ว ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละ Category มากหรือน้อยเท่าไหร่ สามารถแบ่งเงินจากส่วนไหนมาเก็บเพิ่มได้อีกบ้าง แอปใช้งานง่าย สะดวก ดาวน์โหลด MAKE by KBank ได้ทาง App Store หรือ Play Store แล้วมาเริ่มเก็บเงินกันเลย