Thailand Web Stat

มารู้จักกับ KYC และ CDD

        ปัจจุบัน “ภัยก่อการร้าย” ถือเป็นภัยคุกคามที่ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศจึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ประเทศไทยของเราก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ในระดับคณะรัฐมนตรีซึ่งได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่เสนอโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และในระดับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหน้าที่ต้องไปออกประกาศกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับประเภทธุรกรรมของสถาบันการเงินที่ตนเองกำกับดูแล ซึ่งก็รวมถึง ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลการทำธุรกรรมในตลาดทุน

        โดย ก.ล.ต. ได้ออกประกาศซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2550 กำหนดเกณฑ์ให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (ขอเรียกรวม ๆ ว่า บล. นะครับ) ต้องมีวิธีปฏิบัติที่จะทำให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า รวมถึงคอยสอดส่องเพื่อดูว่า มีใครที่ประสงค์ไม่ดีจะมาใช้ตลาดทุนเป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือไม่ ถ้าสงสัยว่ามี ก็ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยสงสัยต่อ ปปง. ทันที ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่ บล. ต้องทำความรู้จักกับลูกค้า (หรือ Know your Client – KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (หรือ Client Due Diligence – CDD) นั่นเอง

        จริง ๆ แล้วการทำ KYC ของ บล . นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ทำกันอยู่แล้วในขั้นตอนการเปิดบัญชีให้กับลูกค้า เพราะแน่นอนว่า บล. เองต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร มีฐานะอย่างไร รับความเสี่ยงได้แค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อที่ บล. จะได้จัดสรรวงเงินให้พอดี ไม่ให้ทั้งบริษัทและลูกค้าต้องแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป รวมทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่ของ บล. สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนอย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เป็นต้น เพียงแต่ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ลูกค้าจะต้องเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม โดยระบุว่าใครเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมและใครเป็นคนมีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย ทั้งนี้ เพราะลูกค้าที่มาติดต่อกับ บล. อาจมีบุคคลอื่นร่วมเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียจากการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือมีบุคคลอื่นมีอำนาจควบคุมหรือตัดสินใจในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็ได้

        ในด้าน บล. เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลของลูกค้าที่เปิดเผยกับบริษัท บล. จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้าหรือทำ CDD นั่นเอง เช่น หากพบว่ามีการทำธุรกรรมในขนาดที่แตกต่างไปจากปกติอย่างมีสาระสำคัญ (ซึ่งลำพังแค่นี้ไม่ได้หมายถึงว่ามีความผิดนะครับ) บล. อาจต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมอีกสักหน่อย หน้าที่ที่ บล. จะต้องทำทั้ง KYC และ CDD นี้จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่า บล. มีข้อมูลของลูกค้าที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

        คุณผู้อ่านที่เป็นผู้ลงทุนอยู่แล้วหรือกำลังคิดจะลงทุนอาจคิดว่า หากต้องถูกตรวจสอบข้อมูลอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง หรือหากถูกส่งชื่อไปให้ ปปง. จะทำอย่างไร จริง ๆ แล้ว ผมอยากจะบอกว่า มาตรการดังกล่าวนั้นแทบจะไม่มีผลกระทบอะไรกับผู้ลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนจริง ๆ และให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพราะ บล. จะจัดแบ่งกลุ่มลูกค้าตามระดับความเสี่ยง โดยกลุ่มที่จะถูกตรวจสอบข้อมูลในระดับที่เข้มงวดหรือถูกจับตามองเป็นพิเศษจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะไม่ยอมให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูล หรือเป็นบุคคลมีประวัติเคยกระทำความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน หรือมีการประกอบอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะนำเงินผิดกฎหมายมาประกอบธุรกิจ อะไรทำนองนี้ครับ ได้ยินอย่างนี้แล้วคงสบายใจได้นะครับ

        ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จัดการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ลองมาฟังว่าไปร่วมประชุมแล้วได้อะไร ถ้าไม่ว่างไปควรทำอย่างไร ในรายการ “Inside ก.ล.ต.” ช่อง Money channel (True visions 80) และ FM. 101 INN News Channel ในวันพรุ่งนี้ เวลา 15.00 – 15.30 น.