Thailand Web Stat

ทำไมค่าฟีที่นี่แพงจัง

        มีผู้ลงทุนมาบ่นที่ ก.ล.ต. ว่าสนใจกองทุนรวมของ บลจ. แห่งหนึ่ง แต่จด ๆ จ้อง ๆ อยู่เพราะเห็นว่า ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนสูงมาก มากกว่า 1% อีก เลยต่อว่า ก.ล.ต. ว่าทำไมปล่อยให้คิดกันแพงขนาดนี้เทียบกับค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นแล้วไม่เห็นมากมายอะไรขนาดนี้

        เรื่องค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เรียกเก็บกับผู้ถือหน่วยนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปตามหลักการเปิดเผยข้อมูล ก.ล.ต. ไม่ได้เข้าไปกำหนดขั้นต่ำหรือกำหนดเพดานไว้ เพราะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด บลจ. แต่ละแห่งจะคิดแค่ไหนก็ต้องเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจน ค่าธรรมเนียมโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

        1) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมตอนขาเข้า (หรือที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน) หรือขาขาย (เรียกว่าค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน) บางแห่งอาจมีโปรโมชัน เช่น ถ้าซื้อหน่วยลงทุนตอนทำ IPO ก็อาจยกเว้นค่าธรรมเนียมขาเข้าให้ก็ได้ หรือถ้าเป็นตอนจะขายคืนก็อาจยกเว้นสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี ก็ได้ หรือจะเป็นค่าธรรมเนียมตอนโอนหน่วยลงทุน สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน (เปลี่ยนกองภายใต้ บลจ. แห่งเดียวกัน) หรือค่าปรับถ้าขายคืนก่อนครบกำหนดเวลาที่ บลจ. กำหนดไว้ เป็นต้น เหล่านี้คือส่วนที่ บลจ. เรียกเก็บกับผู้ที่ทำธุรกรรมเป็นครั้ง ๆ ไป

        2) ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากตัวกองทุนรวม ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของกองทุนรวม เช่น ค่าบริหารกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม รวมทั้งค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุนรวม เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะหักออกจากสินทรัพย์ของกองทุนรวม (ซึ่งก็จะทำให้ NAV ลดลงตามสัดส่วน)

        ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้กองทุนรวมแต่ละกอง แต่ละ บลจ. มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่เท่ากันได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถือหน่วยที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจว่าจะซื้อกองทุนรวมกองใด ซึ่งข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมนี้ก็จะมีเปิดเผยให้เห็นเด่นชัดในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมนั้น ๆ ตามรูปแบบตารางที่ ก.ล.ต. กำหนดซึ่งก็จะช่วยให้อ่านเข้าใจง่ายและสามารถเปรียบเทียบกับกองอื่น ๆ ได้ ถ้าเป็นกองตั้งใหม่ก็จะเขียนเรื่องค่าธรรมเนียมไว้ว่าจะเก็บไม่เกินเท่าไร ๆ เพราะยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ส่วนถ้าเป็นกองที่ตั้งแล้วก็จะระบุได้ชัดเจนว่าเก็บที่อัตราเท่าไรในช่วงที่ผ่านมา

        ในทางปฏิบัติกองทุนรวมที่ต้องมีการบริหารจัดการมากก็จะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงหน่อย ถ้าเทียบให้เห็นเด่นชัดก็จะเป็นกรณีกองทุนรวมหุ้นแบบ active กับกองทุนรวมแบบ passive เพราะกองแบบ active ผู้จัดการกองทุนจะต้องทำงานมากกว่า และก็เป็นธรรมดาที่กองทุนรวมหุ้นค่าธรรมเนียมจะสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เท่าที่ผมเช็คมา ค่าธรรมเนียมในการบริหารของกองทุนรวมหุ้นจะอยู่ในช่วง 1–2% ของ NAV ในขณะที่ถ้าเป็นกองตราสารหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 0.5-1%

        การที่ บลจ. จะขอเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยหรือกองทุนรวม ในทางปฏิบัติทำได้นะครับ เพียงแต่ต้องมีการกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บไว้ในโครงการหรือเปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างชัดเจน และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ถ้าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 25% ของอัตราเดิมในรอบ 1 ปี ก็สามารถทำได้ง่ายหน่อย โดยการลงประกาศในหนังสือพิมพ์ (อย่างน้อย 1 ฉบับ 3 วันติดต่อกัน) ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน และติดประกาศไว้ในที่ที่มีการซื้อขายไม่ว่าจะเป็นสำนักงานใหญ่หรือสาขา แต่หากจะเก็บเกิน 25% ก็จะยุ่งหน่อยคือ ต้องขอมติจากผู้ถือหน่วยที่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยทั้งหมด หรือเป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในขณะที่ถ้าเป็นการลดค่าธรรมเนียมก็ทำได้เลยครับแค่เพียงปิดประกาศไว้ก็พอ

        หวังว่าคุณผู้อ่านคงมีความเข้าใจเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมกันมากขึ้นแล้วนะครับ อย่าลืมว่าก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารอะไรก็ควรต้องรู้จักประเมินตนเอง ต้องดูฐานะและความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ และก็ต้องรู้จักตัวสินค้า ซึ่งในกรณีกองทุนรวมก็ทำได้ง่าย ๆ โดยการอ่านหนังสือชี้ชวนหรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ผู้ขายหน่วยลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเรื่องค่าธรรมเนียมให้ดีและเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่คล้าย ๆ กันของ บลจ. อื่น จะได้ไม่มีข้อสงสัยเรื่องค่าฟีอีกไงครับ