Thailand Web Stat

การจัดสรรเงินเหลือใช้

เมื่อเรารู้จำนวนเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือนแล้ว (สมมุติ 2,000 บาท) และตั้งใจจะสะสมเงินนั้นอย่างมีวินัยต่อเนื่องทุกเดือนจนกระทั่งได้ยอดเงินสะสมรวมตามที่วางเป้าหมายไว้ (สมมุติ 500,000 บาท) เราคงต้องการทราบว่า เราจะใช้เวลาในการทยอยสะสมนานเพียงใด ? หัวใจของความสำเร็จก็จะอยู่ตรงที่ ระยะเวลาที่เราวางแผนจะใช้เงินสะสมนั้น กับจำนวนเงินสะสมที่จะใช้ ซึ่งจะเป็นโจทย์ตั้งให้เราต้องค้นหาทางเลือกที่จะใช้สะสมเงินนั้น โดยคาดหวังว่า ผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงของวิธีการสะสมดังกล่าว จะมีโอกาสทำให้เงินสะสมพอกพูนขึ้นได้เท่ากับเงินสะสมเป้าหมายภายในกำหนดเวลา ที่วางแผนไว้ได้อย่างเหมาะเจาะ ดังตัวอย่าง
อัตราผลตอบแทน
(ทบต้นปีละครั้ง)
ระยะเวลาที่ใช้สะสม
(โดยประมาณ)
1 % 13   ปี   11  เดือน
2 % 11   ปี   9    เดือน
3 % 9   ปี   1   เดือน
4 % 8   ปี   0   เดือน
5 % 7   ปี   3   เดือน
8 % 5   ปี   6   เดือน
10 % 5   ปี   1   เดือน
15 % 4    ปี   2   เดือน

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า ถ้าเราสะสมเงินทุกเดือน ๆ ละ 2,000 บาท โดยมีทางเลือกที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนแตกต่างกัน เราจะใช้เวลาในการสะสมเงินจนถึง 500,000 บาท ได้รวดเร็ว หรือเนิ่นนานแตกต่างกันไปด้วย บางท่านอาจจะด่วนตัดสินใจ "เลือกทางเลือกที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูง เพื่อจะได้ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด" แต่อย่าลืมคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "ทางเลือกที่คาดว่าให้ผลตอบแทนสูง มักมีความเสี่ยงสูงด้วย" นั่นหมายความว่า ทางเลือกนั้นมีโอกาสให้ผลขาดทุนที่สูงด้วยเช่นกัน ถ้าเช่นนั้น เราควรหลีกเลี่ยงไม่เลือกทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงเลยใช่หรือไม่ ? คำตอบอยู่ที่เรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด และเราได้จัดสรรเงินออมและเงินลงทุนอย่างเหมาะสมจนสามารถลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งหรือไม่ การสะสมเงินที่ดี ควรมีการกระจายทางเลือกทั้งการออมและการลงทุนในสัดส่วนที่สามารถให้ผลตอบแทนโดยรวมได้ตามที่คาดหวังไว้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้
นอกจากนี้แล้วปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกวิธีสะสมเงิน หรือลงทุน ได้แก่

  • กำหนดวัตถุประสงค์ของการสะสมเงินหรือลงทุนให้ชัดเจน (สะสมเพื่อใช้อะไรในอนาคต)
  • กำหนดจำนวนเงินเป้าหมายจากการสะสมหรือลงทุน (ต้องการเงินจำนวนเท่าไร)
  • ประมาณการระยะเวลาในการสะสมหรือลงทุน (ต้องการใช้เงินจำนวนนั้นเมื่อไร)
  • ที่มาของเงินที่จะนำมาสะสม หรือลงทุน (เงินที่เหลือใช้ เท่าไร สม่ำเสมอเพียงใด)
  • ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (ผลตอบแทนที่คาดหวังสูง ย่อมมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย)
เมื่อเราพิจารณาแล้วว่า เราสามารถมีเงินเหลือใช้เป็นประจำ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการนำเงินที่เหลือใช้นั้นไปหาดอกผลให้งอกเงยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรู้จักความเหมือนความแตกต่างระหว่างการออมและการลงทุนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคงต้องสำรวจตนเองว่า เราควรดำเนินการวางแผนทางการเงินด้วยตัวเราเอง หรือควรพึ่งพาเครื่องมือ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน อย่างเช่นกองทุนรวม