Thailand Web Stat

ค่าใช้จ่ายการลงทุนในกองทุนรวม สิ่งที่ต้องรู้และให้ความสำคัญ

        หลายท่านคงเคยลงทุนในกองทุนรวมและศึกษากันมาบ้างแล้วว่าการลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือบางท่านอาจจะรู้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป หรืออาจไม่แน่ใจว่ามีค่าใช้จ่ายอะไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการลงทุนในกองทุนรวมกัน แต่ก่อนอื่นผมอยากให้คุณรู้ว่าควรให้ความสำคัญให้มากกับเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพราะจะเป็นต้นทุนของตัวผู้ลงทุนเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนสุทธิ(ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่าย)ของผู้ลงทุน โดยจะทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจริงน้อยกว่าผลตอบแทนที่กองทุนรวมทำได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องรู้และให้ความสำคัญในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยแนะนำให้ศึกษารายละเอียดของต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดของแต่ละกองทุน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อกองทุนรวมใดๆ 

                       การหาข้อมูลต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดของการลงทุนในกองทุนรวมนั้น หาได้ไม่ยากเพียงผู้ลงทุนศึกษาโดยเปิดหนังสือชี้ชวนของแต่ละกองทุนในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญก็จะพบข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ทางกองทุนเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้ในส่วนนี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวม แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง 
                         ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในส่วนนี้อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละกองทุน โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อขาย โอนเปลี่ยนมือ หรือเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน หรือค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน ซึ่งในบางช่วงบริษัทจัดการอาจจะยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้ง 2 รายการนี้ให้กับผู้ที่ต้องการลงทุน ตัวอย่างเช่น ในช่วงการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ลงทุนมาซื้อหน่วยลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนหน่วยลงทุนให้กับคนอื่น ค่าธรรมเนียมในการออกใบหน่วยลงทุนใหม่ ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกองทุน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนต้องการเปลี่ยนการลงทุนจากกองทุนรวมหนึ่งไปยังอีกกองทุนรวมหนึ่งภายใต้การจัดการของ บริษัทจัดการเดียวกัน
 
                        ค่าปรับเป็นค่าใช้จ่ายอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจหรืออาจจะยังไม่ทราบ ค่าปรับจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนมีการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการของกองทุนนั้นๆ โดยค่าปรับถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนมีการขายคืนหน่วยลงทุนเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนรวมนั้นได้

ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวม 
                       ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่ผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนต้องแบกรับ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกองทุนรวม ซึ่งบริษัทจัดการจะดึงเงินจากกองทรัพย์สินของโครงการในกองทุนรวมนั้นๆ มาจ่าย โดยแต่ละโครงการของกองทุนรวมต่างๆ จะกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ไม่เท่ากัน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แบ่งได้ดังนี้

                     ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน หรือค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกองทุน โดยแต่ละกองทุนจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละนโยบายการลงทุนที่แตกต่าง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้โดยมากจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนต่ำกว่า กองทุนรวมตราสารทุน เพราะในการบริหารจัดการกองทุนรวมตราสารหนี้นั้นมีความยุ่งยากและซับซ้อนน้อยกว่าการจัดการกองทุนรวมตราสารทุน หรือในบางกรณีถึงแม้เป็นกองทุนรวมตราสารทุนเหมือนกันแต่มีกลยุทธ์ในการลงทุนแตกต่างกันอย่างกองทุนที่เน้นการลงทุนเชิงรุก (Active Investment Strategy) กับกองทุนที่เน้นการลงทุนเชิงอนุรักษ์ (Passive Investment Strategy) ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายในอัตราที่แตกต่างกันด้วย

                    ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหน่วยลงทุน หรือค่าธรรมเนียมนายทะเบียนหน่วยลงทุน โดยนายทะเบียนนี้จะทำหน้าที่ดูแลรายชื่อผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนตลอดจนสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น การจ่ายเงินปันผล และสิทธิประโยชน์ อื่น ๆ

                       ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จ่ายให้กับผู้ที่ทำหน้าที่รับรองการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และทำหน้าที่ตรวจตราดูแลให้บริษัทจัดการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน รวมทั้งให้บริษัทจัดการมีการปฏิบัติการต่างๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนของโครงการลงทุน ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน

                       ค่าสอบบัญชีกองทุน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จ่ายให้กับผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตและมีชื่อขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกองทุนรวมว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีและจะรับรองความถูกต้องของรายงานทางการเงินของกองทุนนั้น

                       ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจัดการต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แยกต่างหากจากค่าใช้จ่ายข้างต้น โดยต้องระบุตัวเลขที่ชัดเจนที่เป็นอัตราค่าใช้จ่ายขั้นสูงไว้ด้วย เช่น มีการคิดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ไม่เกินร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นต้น

                     ที่นี้คุณก็รู้มากขึ้นอีกนิดแล้วนะครับกับการลงทุนในกองทุนรวม ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเป็นต้นทุนในการลงทุนของคุณ ดังนั้นคุณห้ามลืมให้ความสำคัญในส่วนนี้ โดยขอให้ศึกษาค่าใช้จ่ายของแต่ละโครงการกองทุนจากหนังสือชี้ชวนในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญกันนะครับ

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
Association of Investment Management Companies