Thailand Web Stat

บลจ.กสิกรไทย เฮ! โชว์ผลงานกองทริกเกอร์หุ้นไทย

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ บลจ.กสิกรไทย ได้เสนอขายกองทุนเปิดเค ไทย เฟล็กซิเบิ้ล ทริกเกอร์ 5 (KTFT5) ไปเมื่อวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2558 ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา กองทุน KTFT5 มีมูลค่าหน่วยลงทุนแตะที่ระดับ 10.7580 บาทต่อหน่วย โดยใช้ระยะเวลาบริหารประมาณ 11 เดือนนับจากวันจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนที่ระบุว่า บลจ.กสิกรไทยจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทั้งหมดเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.70 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ 5% ดังนั้น บลจ.กสิกรไทยจึงรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติทั้งหมดในวันที่ 28 เมษายน 2559 และจะชำระเงินค่าขายคืนให้กับผู้ลงทุนในวันที่ 29 เมษายน 2559 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ได้มีการปรับตัวลดลง -5.8% ด้านมุมมองการลงทุนในหุ้นไทยปีนี้ บลจ.กสิกรไทยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้นจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความผันผวนในตลาดโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งต้องจับตามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับในช่วงเกือบ 4 เดือนแรกของปี 59 ที่ผ่านมา ตลาดได้มีการปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก ส่วนในรายกลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงเน้นการลงทุนในกลุ่มที่ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง กลุ่มที่จ่ายเงินปันผลในระดับดีและกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐบาล อาทิ วัสดุและรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งและท่องเที่ยว เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่สามารถขยายตัวได้ดี “บลจ.กสิกรไทยยังคงมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปี 2559 ที่ระดับ 1,450 ด้วยอัตราส่วน Forward P/E ที่ประมาณ 15.5 เท่า โดยปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะต้องติดตามคือการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล และนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐฯ ที่ยังเป็นความหวังที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังคงเพิ่มขึ้น ตัวเลขการส่งออกที่ชะลอลง รวมถึงปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่นักลงทุนต้องติดตาม คือ การปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินในสกุลหลักต่างๆ” นางสาวธิดาศิริกล่าว