Thailand Web Stat

กองทุนรวม กับ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

            สำหรับเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนะครับ โดยปกติแล้วกองทุนรวมที่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กองทุนทองคำ หรือ กองทุนที่ลงทุนในตราสารต่างประเทศนั่นเองครับ ทีนี้ลองมาคิดดูเล่นๆนะครับว่า ทำไมถึงต้องมีนโยบายเรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แน่นอนว่าสำหรับเพื่อนๆที่ต้องออกเดินทางไปต่างประเทศ หรือ ซื้อของเมืองนอก จะผ่านเน็ต หรือ จะฝากเพื่อนช้อปก็ดี จะเห็นได้ชัดว่าค่าเงินไม่คงที่ เช่น เมื่อวันก่อน เราเห็นว่า USD 1 = 30.24 THB แต่ตอนนี้ USD 1 = 30.94 THB นั่นแปลว่าแค่เราเปลี่ยนเงินเราจากสกุลหนึ่ง ไปอีกสกุลหนึ่ง ในระยะเวลาสั้นๆอัตราแลกเปลี่ยนไม่เท่ากัน อาจจะเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้ จริงๆมีการลงทุนอีกแบบที่เล่นเรื่องค่าเงินด้วยนะครับที่เรียกกันว่า “FOREX” ซึ่งเข้าใจว่ากฏหมายในไทยนั้นยังไม่รองรับให้สถาบันการเงินใดๆเปิดให้นักลงทุนรายย่อยทำการซื้อขายได้ ถ้าจะลงทุนก็ต้องไปเปิดบัญชีต่างประเทศโน้น ตามที่พวกเราคงเคยได้เห็นบน Banner ในเว็บลงทุนบ่อยๆ ถ้ายังไงแล้วไว้มีโอกาสจะเอามาแชร์กันนะครับ


            เอาละจากที่ได้อธิบายไปบ้างแล้วเพื่อนๆน่าจะเริ่มเห็นภาพกันแล้วว่า ทำไมกองทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินต่างประเทศถถึงมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นมานะครับนั่นก็เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมนี้โดยสามารถเลือกได้ว่า ต้องการลงทุนโดยไม่ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือ อาจจะเลือกที่จะรับความเสี่ยง เพราะมองเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งส่วนของการลงทุน ขออธิบายด้วยตัวอย่างตามนี้นะครับ


 

กรณีเงินอ่อนค่าลง

กรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้น

 

            กองทุนรวมที่มีนโยบายเรื่องการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจะแยกย่อยได้ 3 รูปแบบง่ายๆดังนี้ครับ


1.      กองทุนรวมที่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด

กองทุนกลุ่มนี้ ถ้าเป็นกองทุนที่กำหนดอายุโครงการจะป้องกันได้โดยใช้วิธีการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าเต็มจำนวนได้เลยแต่ในกรณีกองทุนเปิด ที่สามารถทำการซื้อขายได้ตลอดนั้นจะทำให้มีเงินลงทุนหมุนเวียนอยู่เรื่อยๆทำให้ต้องทำการปรับเรื่องอัตราการป้องกันด้านความเสี่ยง ซึ่งทำให้การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่สามารถทำได้100% เต็มแต่จะอยู่ในเกณฑ์ 90% ขึ้นไป


2.     กองทุนรวมที่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน

กองทุนกลุ่มนี้จะมีนโยบายระบุชัดเจนว่าจะมีอัตราป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ เช่น ป้องกันความเสี่ยง 80% ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นกับมุมมองของผู้จัดการกองทุนว่าในสกุลเงินที่เกี่ยวกับสินทรัพย์การลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นผลประโยชน์จากความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร


3.     กองทุนรวมที่ไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเลย

กองทุนรวมกลุ่มนี้ มองได้ว่าเรากำลังลงทุน 2 ประเภทสินทรัพย์ด้วยกันก็ได้ คือ สินทรัพย์ที่กองทุนรวมนั้นๆลงทุนและอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลงทุนในมูลค่าสกุลเงินนั่นเอง หมายความว่าความเสี่ยงที่เราต้องรับ จะประกอบด้วย ผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินครับ

 

            กองทุนรวมเหล่านี้เป็นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนนะครับเราอาจจะมองว่าเป็นความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแต่บางท่านอาจจะมองว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนก็ไม่ถือว่าผิดนะครับ กองทุนรวมยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกเพียบครับเอาละ ที่มาของบทความนี้ ขอขอบคุณ คุณ kitichai99 ที่มาสอบถามใน  


                http://forum.wealthmagik.com/default.aspx?g=posts&t=104 


             เห็นว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจเลยนำมาแชร์กันครับ หวังว่าบทความนี้จะได้เป็นประโยชน์บ้างนะครับ แล้วในวันเวลาดีๆอากาศสดใส จะมาแชร์เพิ่มเติมนะครับ

 

…. Little Investor ^ ^