Thailand Web Stat

เมื่อ LTF ครบกำหนด ทำอย่างไรดี ควรขาย หรือลงทุนอะไรต่อ ?

บัตรกดเงินสด
เมื่อกองทุนLTF ครบกำหนด 7 ปีแล้ว มักจะเกิดคำถามเกิดขึ้นมาว่า ” เราควรทำยังไงกับ LTF ที่ถือครบกำหนด? ” WealthMagik มีบทความที่จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือก ว่าควรจะถือต่อ ขาย หรือสับเปลี่ยน แต่อาจจะต้องลองพิจารณาถึงปัจจัยหลาย ๆอย่าง เช่น ผลตอบแทนของกองทุน LTF , เป้าหมายการเงิน, และทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
LTF (Long Term Equity Fund) หรือ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยเน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก ต้องลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน โดยผู้ที่ซื้อกองทุนLTF ต้องถือครบ 7 ปี ปฏิทิน จึงจะสามารถขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน

ทางเลือกเมื่อ LTF ครบกำหนด ควรขาย หรือลงทุนอะไรต่อ

ถือ LTF ที่ครบกำหนดต่อไป

หากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือยังไม่ต้องการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุน ก็ไม่จำเป็นต้องรีบขายกองทุนLTF ที่ครบกำหนด สามารถถือครองต่อไปได้ หากพิจารณาแล้วว่ากองทุน LTF ที่ลงทุนไว้อาจจะทำผลงานได้ดีอยู่ก็สามารถถือ LTF ต่อไปได้ถึงจะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่กองทุน LTF ยังมีผู้จัดการกองทุนบริหารงานต่อไป และสามารถถือลงทุนระยะยาวได้ต่ออีกด้วย เพราะยิ่งถือยาวก็อาจจะยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนดีและช่วยลดโอกาสขาดทุนจากความผันผวนของตลาดได้

ขาย LTF ที่ครบกำหนด

หากในอนาคตมีแพลนต้องใช้เงิน เช่น นำเงินไปลงทุน ใช้จ่ายภาระหนี้สิน หรือต้องการให้รางวัลตัวเอง ก็อาจจะเลือกตัดสินใจขายกองทุน LTF ที่ครบกำหนดและนำเงินออกมาใช้จ่ายตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ หรืออีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจคือขาย LTF แล้วนำเงินมาลงทุนต่อใน SSF, RMF, TESG ได้
  • ในกรณีที่ต้องเสียภาษีต่อ ควรเลือกลงทุนใน SSF RMF TESG
  • อายุ < 45 ปี แนะนำให้ลงทุนในกองทุน SSF จะได้ประโยชน์สูงสุด
  • อายุ > 45 ปี แนะนำให้ลงทุนในกองทุน RMF เท่านั้น ถือลงทุนสั้นกว่า SSF
  • ในกรณีไม่ต้องเสียภาษี
ลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น กองทุนตลาดเงิน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ และผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆ เหมาะสำหรับพักเงิน
เพราะการลงทุนใน LTF ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ถ้าขายและนำเงินมาลงทุนต่อใน SSF, RMF, TESG นอกจากจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว อาจจะทำให้ลดความเสี่ยงลงได้ และมีกองทุนให้เลือกหลากหลายมากกว่า ซึ่งมีตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูงมาก

สับเปลี่ยนกองทุน LTF ที่ครบกำหนด

หากคิดว่า LTF ที่ลงทุนไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนที่แท้จริงตามที่ตัวเองวางแผนไว้ อยากปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน ก็สามารถสับเปลี่ยน LTF ที่ครบกำหนดได้ แต่ต้องสับเปลี่ยนจาก LTF เป็น LTF ด้วยกันเท่านั้นไม่สามารถข้ามไปเป็น SSF,RMF ได้ และสามารถสับเปลี่ยนได้ทั้งภายใน บลจ.เดียวกันหรือสับเปลี่ยนข้าม บลจ. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกองทุนต้นทางและปลายทางนั้นๆด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น
*ก่อนตัดสินใจสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน LTF อย่าลืมสอบถามทาง บลจ.ถึงขั้นตอน รายละเอียดเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยน